วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ศาสนาพุทธในสังคมโลก

นั่งตัดรายการสารคดี เรื่องความเชื่อของไทยก้าวไกลสู่อาเซียน ก็เรื่องนัตความเชื่อของพม่าที่กลายมาเป็นเทพทันใจของคนไทยนี่แหละครับ ตัดไปก็อ่านข่าวไปด้วย เจอเรื่องธรรมกาย คิดอยู่นานว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีไหมเพราะก็อย่างที่รู้ๆกันเรื่องของศาสนาความเชื่อนี่ มีข้อห้ามในวงเพื่อน วงเหล้ามานาแล้วว่า ห้ามพูดเด็ดขาด ฆ่ากันตายหรือเสียเพื่อนกันมาเยอะแต่ก็อย่างว่า อดไม่ได้ขอกล่าวถึงซะหน่อยแล้วกันหวังว่า คงไม่เกิดการฆ่ากันหรอกนะ55555
     กำลังเป็นประเด็นอีกครั้งเรื่องของ ธรรมกาย ซึ่งต้องบอกว่าทั้งฝ่ายเชียร์ฝ่ายด่ามีมากพอกัน ถือว่าเป็นมวยสูสีใครชอบทางไหนก็เอาทางนั้นแล้วกัน โดยส่วนตัวผมถือว่าแล้วแต่ศรัทธาใครศรัทธามัน แต่เรื่องที่อยากจะพูดในวันนี้คือประเด็นเรื่องคามใจกว้างในเรื่องของศาสนานี้ เอาแคบๆมาที่ศาสนาพุทธซึ่งก็เป็นศาสนาที่คนไทยเราส่วนใหญ่นับถือกัน
     ขอเล่าความสั้นๆเกี่ยวกับประวัติศาสนาพุทธเผื่อเพื่อนๆหลายท่านอาจลืมไปหรือไม่ได้สนใจจะจำแล้วหน่อยแล้วกัน พุทธเรานี้มีกำเนิดมาจาก เจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งเป็นเจ้าทางเหนือของอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล ก็ถือว่าเป็นเจ้าครองนครเล็กๆในสมัยนั้นแหละครับ  ยุคนั้นอินเดียเต็มไปด้วยแคว้นเล็กใหญ่ ปรองดองกันบ้าง ทะเลาะรบกันบ้างไปตามเรื่องตามราว ผู้คนในยุคนั้นก็สนใจกันเรื่องหาความสงบกันมาก มีเจ้าสำนักหลายลัทธิมากมาย แต่ศาสนาหลักๆที่นับถือกันในตอนนั้นก็คือ ศาสนาพราหมณ์นั้นเอง เจ้าชายสิทธัตถะเองก็ออกบวชและหาแนวทางตามความเชื่อต่างๆมามากมายแต่พระองค์เชื่อว่า ไอ้ที่ศึกษาเรียนมาตามสำนักต่างๆนั้นไม่ทำให้พระองค์พ้นจากทุกข์ได้ เรียกง่ายๆว่าไม่บรรลุนั้นเอง ก็เลยตัดสินใจออกหาทางพ้นทุกข์ด้วยตัวเอง จนมาบรรลุสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าเมื่ออายุ 35 หลังจากพยายามมาเป็นเวลา  6 ปี ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เล่าถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อย คือผมชอบพุทธประวัติตอนนี้มากเลย ชอบมากจนอยากจะทำเป็นหนังสารคดีอ่ะ ผมว่ามันดราม่าดี ลองคิดดูสิครับ ปุถุชนคนหนึ่งเบื่อโลกออกเดินทางแสวงหาทางพ้นทุกข์ ไปเรียนสำนักนั้นสำนักนี้ ก็ไม่ชอบ ไม่ถูกใจไ ม่บรรลุ จนมานั่งคิดอยู่ใต้ต้นไม้ริมฝั่งแม่น้ำ คืนเดือนเพ็ญ  แล้วแบบก็ เฮ้ย คิดออกแล้วอ่ะ มันเป็นของมันอย่างนี้นี่เอง 55555 อันนี้จินตนาการของผมน่ะ สรุปคือ จากเจ้าชายสิทธัตถะ ก็กลายเป็นพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นท่านออกเริ่มออกเผยแพร่แนวคิดของท่านออกไป ก็มีสาวกผู้นับถือมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากคำสอนที่เป็นเรื่องของเหตุผลแล้ว อีกประเด็นที่น่าจะทำให้ศาสนาพุทธเริ่มเป็นที่นิยมก็น่าจะเป็นเรื่องของ แนวคิดที่ไม่มีระบบวรรณะนั้นเอง ระบบวรรณะของอินเดียมีมานานและฝังรากลึกในสังคม ตั้งแต่ยุคสมัยที่พวกอารยันจากเอเซียกลางรุกรานเข้ามาในอินเดีย อารยันเป็นพวกผิวค่อนข้างขาว หน้าตาก็พวกแขกขาวนั้นแหละ พวกนี้เอาความเชื่อเรื่องพระเวทเข้ามา และจัดระบบชั้นวรรณะ พวกอารยันฝ่ายตัวเองก็เป็นพวกชนชั้นสูง เป็นพราหมณ์ เป็นกษัตริย์ เป็นนักรบ พวกผิวคล้ำผิวดำ ชนพื้นเมืองที่อยู่มาก่อน ก็กลายเป็นพวก ใช้แรงงาน เกษตรกรไป ห้ามปะปนกัน ใครไปแต่งงานมีลูกข้ามวรรณะ หรือเรียกง่ายๆว่า ผิดสี เพราะวรรณะนี่แปลว่า สี ก็ซวยลูกด้วย ถูกลดชั้นไปเป็นจัณฑาลเลย คือไม่มีวรรณะ ไม่มีสถานะทางสังคมใดๆทั้งสิ้น ประมาณว่า ไม่มีตัวตนนั้นแหละครับ ถือเป็นการลงโทษทางสังคมที่รุนแรงมากนะครับ ลองคิดดูง่ายๆสิ มนุษย์เรานี่น่ะเป็นสัตว์สังคมต้องอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน อยู่โดดเดี่ยวคนเดียวไม่ได้ แล้วคุณถูกห้ามไม่ให้มีบทบาทคบหาใครในสังคมมันจะเป็นยังไง ถูกมองถูกกระทำเหมือนไม่มีตัวตน ด้วยเหตุเรื่องการไม่มีวรรณะ ในศาสนาพุทธนี่แหละครับ ทำให้คนในสังคมยุคนั้นส่วนหนึ่งสนใจและหันมานับถือพุทธกันมากขึ้นเรื่อยๆ และก็เป็นธรรมดาของทุกสิ่งแหละครับ หลังจากที่พระพุทธเจ้าท่านปรินิพานไปแล้วไม่นานเท่าไร พุทธเราก็เริ่มมีความเห็นไม่ลงรอยกันในหมู่สาวกทั้งหลาย  ในที่สุดก็แตกออกเป็น 2 นิกายคือ แบบเก่ายึดเอาแบบเดิมเปะๆเรียกว่า เถรวาทหรือหินยาน กับอีกแบบที่เชื่อว่าบางสิ่งบางอย่างมันเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ก็เรียกตัวเองว่า มหายาน ทั้งสองนิกายก็เผยแพร่ศาสนาพุทธของเราออกไปตามความเชื่อของฝ่ายตัวเอง  ในอินเดียยุคต่อมาส่วนใหญ่ พุทธแบบมหายานเจริญรุ่งเรืองมากครับ ขยายไปจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไปทางธิเบตแถวหิมาลัย ไปทางตะวันตกตามเส้นทางการค้า อัฟกานิสถานนี่พุทธมหายานรุ่งเรืองมากเลยนะครับ หลายท่านคงจำได้ ตอนที่พวกตาลีบันยึดครองอัฟกานิสถาน แล้วระเบิดยิงทำลายพระพุทธรูปหินสลัก ใหญ่ๆไปมากมาย เรียกได้ว่า ในตอนนั้นเป็นยุคทองของพุทธมหายานเลยทีเดียวแตกแขนงออกเป็นสารพัดนิกาย แตกต่างประหลาดกันจนบางนิกายไม่น่าเชื่อว่าเป็นศาสนาพุทธ แม้นกระทั่งใกล้ๆบ้านเรา เขมรขอมยุคแรก หรือทางภาคใต้ แรกๆ ก็เป็นพุทธมหายานเหมือนกันส่วนเถรวาทนั้นแผ่ขยายมาทางอินเดียใต้ มาศรีลังกาแล้วมาเอเซียอาคเนย์ หลักๆก็พม่า ไทย ลาว นี่แหละครับ ไทยเราก็รับเอาพุทธเถรวาทมาจนถึงวันนี้
     พุทธเถรวาทนั้นตั้งอยู่บนความเชื่อว่า ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ง่ายคือ สมัยพระพุทธเจ้าท่านกำหนดอะไรไว้ก็เอาอย่างนั้น คงไว้อย่างเดิมแต่ก็เป็นธรรมดาโลกครับ เวลาเป็นพันๆปีก็อาจมีบ้างที่ถ่ายทอดกันมาไม่หมดไม่ครบหรือผิดเพี้ยนไปบ้าง อย่างไทยเราเคยรับเอาพุทธมาจากประเทศศรีลังกา จนมารุ่งเรือง ต่อมาทางศรีลังกาศาสนาพุทธเกิดเสื่อมถอย ไม่มีพระสงฆ์ต้องนิมนต์พระอุปปัชฌาจากไทยเราไปบวชให้ จึงมีคำเรียกว่า สยามวงศ์ ลังกาวงศ์ แต่ก็เป็นเถรวาทเหมือนกัน ส่วนในไทยเรานั้นเถรวาทแตกออกเป็น 2 นิกายกล่าวคือในยุคสมัย ร4 พระจอมเกล้าท่านก็ตั้งนิกายขึ้นมาใหม่ คือ ธรรมยุติ ส่วนนิกายของเดิมคือ มหานิกาย  มีข้อปฎิบัติแตกต่างกันไม่มากนัก  แต่ถ้าอยากจะรู้ว่า วัดนี้พระนี้นิกายไหน ก็ดูที่สี จีวรก็ได้ครับ มหานิกายจีวรจะสีสดๆ ส่วนธรรมยุติจะสีหม่นๆอย่างที่เรียกว่าสีกลักน่ะแหละ
     ธรรมยุติมีจำนวนน้อยกว่า แต่ต้องเรียกว่า มีอิทธิพลมากกว่า พูดอย่างนี้ไม่ได้ชวนทะเลาะให้แตกแยกกันนะครับ พูดไปตามเนื้อผ้าเท่านั้น เพราะจะว่าไปคือ พระมหากษัตริย์คือพระจอมเกล้าท่านเป็นคนตั้งนิกายนี้ โดยมีวัดบวรเป็นเสาหลักของธรรมยุติ มีมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นสถาบันหลักทางการศึกษา มีเจ้านายหลายพระองค์ในอดีตที่บวชในนิกายนี้แล้วก็เป็นพระสังฆราชกันหลายพระองค์ สมเด็จญาณพระสังฆราชที่เพิ่งสิ้นพระชนม์ไปก็อยู่วัดบวร ธรรมยุตนี่แหละครับ
     ส่วนมหานิกายพวกเยอะกว่า วัดเยอะกว่า วัดดังๆก็เช่น วัดสระเกศที่สมเด็จเกี่ยวท่านเคยอยู่  วัดปากน้ำที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หรือเรียกกันว่า สมเด็จวัดปากน้ำ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันท่านอยู่ และวัดที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันสนุกปาก วัดธรรมกาย นั้นเอง  วัดเหล่านี้เป็นมหานิกาย มีมหาจุฬาลงกรณ์เป็นสถาบันการศึกษาหลัก  สายมหานิกายนี้ในอดีตก็มีพระสังฆราชหลายพระองค์อยู่ อย่างที่ผมจำได้ ก็พระสังฆราช แพ วัดสุทัศน์ ที่จำได้เพราะพระกริ่งดัง ทั้งพระกริ่งพรหมมุนี พระกริ่งอินโดจีน
     เล่ายืดยาวมาขนาดนี้ มีเหตุผลเดียวครับคือจะเล่าว่า พุทธเรามีหลายนิกายนะครับ มากมายนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว เอาเถรวาทสยามวงศ์ของไทยเรายังมี 2 นิกาย มีข้อห้ามความเชื่อแตกต่างกันจะบอกของใครดี ไม่ดีก็คงไม่เหมาะไม่ได้  ผมจึงอยากจะเห็นความใจกว้างของพุทธเราครับ ว่าหลายอย่างอาจไม่ตรงใจท่าน ขัดใจเรา ก็ต้องพิจารณากันด้วยเหตุผลไป จะบอกว่าเราเป็นเถรวาทเปลี่ยนแปลงอะไรเลยไม่ได้นั้น ก็คงไม่ถูกทั้งหมดเพราะเราเองยัง 2 นิกาย และจะว่าไป ตอนนี้พุทธแบบไทยเราก็กลายเป็นพุทธแบบใหม่ของโลกไปแล้วนะครับ เอาง่ายๆเลย พุทธเรานี่แข่งกับพราหมณ์อินดูมาตลอด ยิ่งพุทธมหายานนี่แย่งชิงศรัทธามหาชนกับฮินดูในอินเดียกันมันหยดติ่ง ฮินดูมีเทพต่างๆ มหายานมีพระโพธิสัตว์มีฤทธิ์ไม่แพ้กัน  ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้กันแต่สุดท้ายฮินดูก็เป็นฝ่ายชนะในประเทศอินเดีย พุทธมหายานก็เสื่อมถอยลงไป เรียกง่ายๆว่า พุทธกับฮินดูนี่ เป็นคู่แข่งกันก็ไม่ผิดอะไร แต่ไทยเรายุคนี้เก่งครับ 5555 เราเอาพุทธกับฮินดูมาอยู่ร่วมกันสำเร็จแล้วครับในปัจจุบันนี้ ไปวัดดังๆที่คนชอบทำบุญเราจะเจอเทพฮินดูหลายองค์มาประจำการเรียบร้อย  แรกๆ อาจเจอแค่พระพิฆเนศ แต่ตอนนี้ มีครบแล้วครับ พระนารายณ์ พระอิศวร พระพรหม เทพเหล่านี้พร้อมใจกันประทับประจำการกันอย่างพร้อมเพรียง ฉลองศรัทธามหาชนชาวไทย อยู่รวมกันกับพระพุทธรูปเลย บางวัดก็อาจจะยังเขินๆหน่อย ก็แยกมาตั้งศาลาต่างหาก ไหว้เทพเสร็จก็ไหว้พระต่อเลย เรียกได้ว่า มาวัดทั้งทีไม่มีพลาด พระอาจจะลืมบุญกุศลที่เราทำ ก็ยังมีเทพต่างๆสำรองอีกก๊อก หรือ พุทธอย่างมหายานก็มาอยู่ในวัดเถรวาทเนียนๆ ตัวอย่างก็ เจ้าแม่อวนอิมหรือพระอวโลกิเตศวร นั้นแหละครับ อันนี้เป็นพระโพธิสัตว์ทางพุทธมหายานเค้า ท่านก็มาประทับอยู่กับสายเถรวาทแบบที่คนไทยเราไม่รู้สึกอะไร
     สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนความเป็นไทยของเราตรงไหนบ้าง  มันสะท้อนเลยเยอะครับผมตอบแบบไม่ต้องคิด เราไม่ได้เป็นพุทธที่เคร่งอะไรมากมายเลยครับ เราเป็นพุทธพานิชย์ซะส่วนมากนั้นคือส่ิงที่เราเป็น ทำบุญตักบาตรแบบคนกรุงเทพที่เรียกว่า ใส่บาตรเวียน จากแม่ค้าสู่บาตรพระ แล้วกลับไปโต๊ะแม่ค้าอีกนี่ มันมีเฉพาะบ้านเรานะครับ และส่วนมากก็ในกรุงเทพนี่แหละ เวียนกันเห็นๆตรงนั้นไม่ต้องไปแอบตรงไหนให้เสียเวลา คนใส่บาตรก็ยอมรับได้ เพราะไปคิดเอาว่า ฉันใส่บาตรแล้ว ฉันได้บุญแล้ว เอาสะดวกเข้าว่า 55555 เอาแนวคิดพุทธตรงไหนมาคิดครับ จะต่อต้านพุทธวัตถุนิยมนี่ แล้วที่ทำๆพระเครื่องกัน  พระบูชากัน ไหนจะพระพุทธรูปทั้งเล็กทั้งใหญ่แบบใหญ่ที่สุดในโลก  อย่างนี้ถือว่า พุทธวัตถุนิยมไหมครับ สร้างวัดวิหารใหญ่ๆ หรือเล็กๆแต่สวยขาดใจอย่างวัดร่องขุน อาจารย์เฉลิมชัยนี่ พุทธวัตถุนิยมไหมครับ ถ้าใช่ต้องก็ต้องด่ากันให้หมดครับ  วัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวดังไปทั่วโลกอย่างวัดโพธิ์ วัดพระแก้ว ก็ต้องเข้าข่ายด้วย
     พุทธเราเองก็สอนอยู่แล้วครับ ว่าคนมีหลายประเภทหลายจำพวก จะบัวในตมหรือพ้นน้ำลอยในอวกาศ มันก็เป็นคนอยู่สังคมเดียวกัน ระดับสติปัญญาวิธีคิดย่อมแตกต่าง พระพุทธเจ้าท่านเองก็ยังบอกว่า คนแบบไหนก็ต้องใช้วิธีสอนให้เหมาะสม คนฉลาดก็ไปอ่านไปคิดได้เอง  แบบสติปัญญาธรรมดาๆทั่วไปก็ต้องสั่งสอน  ส่วนพวกติดบื้อๆ เนื้อสมองน้อยหน่อยก็ต้องใช้อุบายหลอกล่อ นรกสวรรค์ว่ากันไป ให้เชื่อให้กลัว แต่ก็ด้วยเจตนาดีอยากให้บรรดา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้เข้าถึง มรรคผล ทั้งนั้น การทำบุญทำทานมันก็เป็นอุบายอย่างหนึ่งแหละครับ ถ้ามองแบบไม่ยึดติดอะไรมาก รูปแบบที่ธรรมกายเค้าใช้ระดมทำบุญทำทาน มันอาจไม่ตรงจริตบ้างก็ว่ากันไป แต่ความใจกว้างทางความคิดควรจะมีกัน ถ้าเราไม่ชอบแทนที่จะมาด่าว่า ทำไมไม่พยายามเผยแผ่สิ่งที่เราคิดว่าดีกว่าแทนล่ะครับ เสนอให้สังคมเห็นสิครับว่า มีแนวทางที่ดีกว่าการทำบุญแบบนั้น  เผยแพร่เรื่องคำสอนที่ถูกต้องออกไปสิครับ ถ้าเชื่อว่าสิ่งที่เค้าเผยแพร่มันผิด ไม่ใช่เราก็ไม่ทำ แต่คนอื่นทำเราก็ไม่ชอบ ผมว่ามันใจแคบไปนิด  สุดท้ายครับ ความรู้แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ยิ่งถ้าเป็นความรู้คู่เดินทางนี่   ต้องบอกว่าสุดยอด  โชคดีครับทุกท่าน

ภาพประกอบหลายที่เลย อ่านบรรยายในแต่ละรูปนะครับ


























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น