วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เช้านี้ ที่น้ำตก วิคเตอเรีย ลิฟวิ่งสโตน ซิมบับเว่ แอฟริกา

ถ้าไม่นับเมื่อวานที่ต้องเรียกได้ว่า นอนมาบนเครื่องบิน 787 ดรีมไลเนอร์ ของเคนย่า แอร์เวย์แล้วแหละก็ วันนี้ก็ต้องนับเป็นเช้าแรกบนทวีปแอฟริกา ของผม หลังจากเมื่อวานนั่งเครื่องบิน 9 ชมรวดเดียวจาก กรุงเทพมาไนโรบี ถึงไนโรบีประมาณ หกโมงเช้ากว่าๆ อากาศเย็นสบายที่สนามบิน JKIA คณะถ่ายทำสารคดีทั้งหมด 6 คนของพวกผมก็เดินทางสู่ห้องรับรองของทางเคนย่า แอร์เวย์ที่สนามบินเลยทีเดียว มีเจ้าหน้าที่ของทางเคนย่าแอร์มายืนยิ้มต้อนรับเห็นฟันขาวตัดกับสีผิวดำสนิท ที่ยืนรอรับที่บันไดทางลงของเครื่องบิน หลังจากนั้น Aros ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าหน้าที่เคนย่าก็พาเราเดินตรงเข้าสู่บริเวณตัวสนามบินเลยทีเดียว ถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองเห็นแถวคนรอยาวเหยียด พี่Aros ของเราพาเดินออกจากแถวแบบไม่เกรงสายตาใคร มาลัดคิวตรงเครื่องตรวจ X ray สัมภาระหน้าสุด พร้อมบอกให้พวกเราเอาสัมภาระตรวจ x ray ซึ่งบรรดาผู้ที่เจ้าแถวก่อนหน้า ต่างก็พอกันบ่นพึมพำไม่พอใจ ซึ่งพวกเราก็เลยพยายามทำหน้าบ๊องแบ๊ว และไม่กล้าพูดภาษาไทยกันเลย กลัวชาวบ้านจะรุมประนาม ผ่านด่านตรวจสัมภาระมาแบบท่ามกลางเสียงด่าของประชาชน พวกเรารีบทำตัวลีบๆ หายไปในด่านตรวจโรคทันที ซึ่งก็ไม่มีอะไรมากแค่ยื่นเอกสารเรื่องสุขภาพที่มีในกรอกบนเครื่องบิน แล้วเจ้าหน้าที่ก็เอาน่าจะเป็นเครื่องวัดอุณหภูุมิระยะไกล มาจ่อยิงไปที่หูแล้วก็ให้ผ่าน พูดถึงเรื่องการตรวจโรคนี่ สำหรับคนไทยทุกคนที่เดินทางมาที่แอฟริกา ไม่ว่าจะมาทำงานหรือมาเที่ยวก็แล้วแต่ ต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองกันก่อนนะครับ ไม่งั้นเวลาเดินทางออกนอกประเทศไทยนี่ เค้าให้คุณออกสบายๆ แต่เวลากลับเข้ามา ไม่มีใบฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองล่ะก็ โดนกักตัวที่ด่านกักโรคแน่ๆ เพราะทวีปแอฟริกายังถือว่าเป็นสถานที่ที่ยังเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้อยู่ การไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองก็ไม่ยากไม่เจ็บอะไร ผมไปฉีดที่ รพ เวชศาสตร์เขตร้อน แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เจ็บนิดเดียวอยู่ได้สิบปี และเลยซื้อยากันมาเลเรียมากินซะเป็นที่เรียบร้อย เพราะเขตน้ำตกวิคเตอเรีย ที่ผมต้องมานอนอยู่ 2 คืนนี่ยังจัดว่าเป็นเขตมาเลเรียอยู่ ผมซึ่งจะว่าไปถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์เรื่องมาเลเลียอย่างช่ำชองเพราะเป็นถึง 2 ครั้งและเป็นทุกเชื้อที่มีอยู่ของเมืองไทย ก็ต้องป้องกันเอาไว้หน่อย ไม่งั้นเดี่ยวได้ทดลองเอาเชื้อสายพันธ์แอฟริกาไปฝากหมอไทย ตามที่คุณหมอที่เวชศาสตร์แซวมาก่อนจะจับผมฉีดวัคซีน ยามาเลเลียนี่ต้องกินก่อนเข้าพื้นที่เสียง 1 อาทิคย์ครับ แล้วก็กินอีก อาทิคย์ละครั้ง ทั้งขณะที่อยู่ในพื้นที่และเมื่อกลับออกมาก็ต้องกินต่อเนื่องมาอีก 1 เดือนดูยุ่งยากไปหน่อยแต่เมือเทียบกับป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นก็ต้องบอกว่าคุ้มครับ ใครเคยเป็นมาเลเลียคงรู้ดี ว่าเป็นแต่ละทีนี่ ต้องใช้คำทันสมัยว่า ร้องไห้หนักมาก ประมาณนั้นเลยทีเดียว กลับเข้ามาที่แอฟริกากันอีกทีครับ เมื่อนาย aros พาเราไปส่งที่ห้องรับรองเสร็จแล้ว ผมก็เดินสำรวจบริเวณทันที เพราะมีนัดสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของเคนย่า แอร์เวย์ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปลิฟวิงสโตน ในตอนบ่ายโมง ก็จัดเตรียมที่ทางวางกล้อง เรียบร้อยก็พักผ่อนนอนเล่นกันบริเวณนั้น ออกมาข้างนอกไม่ได้เพราะเราทำวีซ่าเข้าเคนย่าเพียงครั้งเดียวซึ่งจะใช้ เมือครั้งกลับมาจาก ลิฟวิงสโตน ก็นั่งเล่นนอนเล่นกันไป ชาวคณะที่นิยมโซเซียล เนตเวิคก็อัพสเตตัส เล่นไลน์ไป ในห้องรับรองที่สนามบิน JKIA มีไวไฟให้เล่นฟรี แต่ความเร็วอืดอาดเต่าคลานมาก ผมก็นั่งเขียนบทความเหล่านี้แหละไปเรื่อยๆตามความตั้งใจว่าจะใช้เวลาเขียนบทความให้ได้ทุกวันเพื่อเล่าประสบการณ์การเดินทางเกือบ30 ปีที่ผมเดินทางมา ในห้องรับรองก็มีเจ้าหน้าที่ของเคนย่าแอร์เวย์ดูแลเราดีครับ แต่ทีถือว่าเป็นทีเด็ดแบบไม่คสดหมายคือ อยู่ดีๆ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรา ซึ่งชื่อ แอมมานูเอล ก็พาคุณประกรณ์ซึ่งเป็นพิธีกรรายการสารคดีของผม ไปพบผู้ชายท่าทางภูมิฐานคนหนึ่งที่นั่งอยู่ใกล้ๆคณะพวกเรา และแนะนำว่าเป็น อดีต CEO ของทางเคนย่า แอร์ คุณประกรณ์ก็เลยได้มีโอกาสพูดคุยเล่ารายการสารคดีของพวกเราว่าจะมาทำอะไรที่ไหน อย่างไร ซึ่ง Dr Titus Naikumi ซึ่งเป็นอดีต CEOแอร์เคนย่า แต่ตอนนี้เป็น ChairMan ของ Airtel บริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ของเคนย่า มีความสนใจมาก และแนะนำเรื่องราวดีๆของเคนย่าให้เราอีกมากมาย Dr Naikumi ถามเราว่า เราไปถ่ายที่อุทยานแห่งชาติมาไซมาร่า หรือเปล่า ซึ่งเราก็ตอบไปว่า เราต้องไปถ่ายแน่นอน เพราะอุทยานมาไซมาร่านี่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์หน้าตาของทางเคนย่าเลยทีเดียว ทีมถ่ายทำสารคดีทั่วทั้งโลกพลาดรายการนี้ไม่ได้ หลายท่านคงเคยผ่านตามากันแล้ว ที่จะเห็นชนผ่ามาไซซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองบริเวณนั้นใส่เสื้อผ้าสีสันสดใส สีแดงๆ เต้นรำกระโดดสูงๆ ถือหอก ไปรอบๆ นอกจากนั้น นอกจากนั้นในช่วงเวลานี้บริเวณอุทยานมาไซมาร่ายังเป็นสถานที่ที่เรียกว่า Great Migration หรือการอพยพครั้งใหญ่ของบรรดาสรรพสัตว์นับเป็นล้านๆตัว จากอุทยานซาเรนกาติประเทศแทนซาเนียซ฿่งอยู่ติดกันมายัง มาไซมาร่าประเทศเคนย่า ภาพการอพยพย้ายถิ่นประจำปีของสัตว์เหล่านี้เป็นภาพที่ตื่นตาตื่นใจหลายๆคนทั่วโลก ซึ่งเรื่องนี้ผมจะมาเล่าอย่างละเอียดในครั้งหลังนะครับ สำหรับวันนี้พอแค่นี้ก่อน อย่าลืมนะครับ ความรู้คู่เดินทาง แล้วทุกครั้งการท่องเที่ยวของท่านจะมีความสุข โชคดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น