วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วัฒนธรรมการกินหมากพลูของพม่า หน้าประวัติศาสตร์ที่หายไปของเมืองไทย

ถ้าใครอายุสัก 40 ปีขึ้นไปน่าจะทันเห็นคนกินหมากในบ้านเรา ซึ่งตอนที่เห็นนั้นก็คงเหลือแต่คนแก่ๆแล้ว ในปัจจุบันถ้าอยากจะเห็นคนกินหมากกินพลูคงต้องไปดูตามสถานที่พวกเจ้าเข้าทรงหรือไม่ก็บรรดาเกจิอาจารย์ หลวงปู่ทั้งหลาย หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้การเลิกกินหมากหายไปจากสังคมไทย ผมก็ขอเล่าสั้นๆง่ายๆว่าเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลสมัยจอมพล ป นี่เองหรือเอาประมาณว่าสัก เจ็ดสิบปีที่แล้ว ที่ประกาศให้คนไทยเลิกกินหมากเพราะดูแล้วมันไม่เจริญอย่างพวกฝรั่ง ในยุคนั้นเรามีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมหลายอย่างเลยครับ สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากความวุ่นวายของโลกยุคนั้นแหละครับช่วงสงครามโลกทั้ง2 ครั้ง ท่านใดสนใจเป็นพิเศษก็คงหาอ่านเอาได้ไม่ยากนัก แต่เรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังนั้นคือ ที่พม่าเพื่อนบ้านอาเซียนของเรานี่แหละครับ ที่วัฒนธรรมการกินหมากยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่น เรียกได้ว่าเป็นของท๊อบฮิตติดตลาดซื้อง่ายขายคล่อง มีขายทุกถนน ทุกแห่งเลยก็ว่าได้ ผมเดินทางไปพม่าหลายครั้งเพื่อถ่ายทำสารคดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มัณฑะเลย์เป็นเมืองหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสไป ลักษณะการไปทำงานถ่ายทำสารคดีของผมนั้นจะเดินทางไปคณะเล็กๆ ใช้อุปกรณ์ไม่อลังการใหญ่โตอะไร ใช้เวลาส่วนมากตลุกคลี พูดคุยกับชาวบ้าน อย่างครั้งที่ไปมัณฑะเลย์ก็เหมือนกัน ผมไปพัก รร ง่ายๆ แถวตลาดสดของเมือง ก็ไม่ได้วางแผนถ่ายอะไรมากมาย กะว่าเรื่องอะไรน่าสนใจก็ทำเรื่องนั้น เห็นอะไรก็จะวิเคราะห์เปรียบเทียบหาจุดเด่นจุดด้อยเมื่อเทียบกับบ้านเราเพื่อนำมาเล่าในรายการ เพื่อนร่วมทาง รายการสารคดีของผม เย็นวันแรกหลังเข้าที่พัก ผมก็เดินออกไปหาอะไรกิน ก็เล็งร้านข้าวแกงหน้า รร ไว้แล้วล่ะว่าจะลองออกมากิน ราคาไม่น่าจะแพงอะไร เพราะเป็นแบบชาวบ้านมากๆ ขณะที่เดินออกมาจาก รร ก็สังเกตุเห็น ชายพม่าสัก สามสี่คนจับกลุ่มคุยกันอยู่บริเวณข้างๆ รร เมื่อผมเดินผ่านออกมา ก็ได้ยินเสียงถามภาษาอังกฤษว่า ผมจะไปไหน ผมหันไปเจอกับหนุ่มใหญ่พม่าหน้าไม่ค่อยยิ้มคนหนึ่งที่เอ่ยถามซ้ำอีกครั้งว่า ผมจะเดินทางไปไหนหรือเปล่า ผมตอบไปสั้นๆว่า จะเดินไปกินข้าวหน้า รร นี่แหละ และชี้มือไปที่ร้านข้างหน้า หนุ่มใหญ่พม่าพยักหน้าเข้าใจแต่ก็ชวนคุยถามต่อว่า ผมคงเป็นนักท่องเที่ยวใช่ไหม มีรถสำหรับเดินทางแล้วหรือยัง เค้าสามารถจัดการหาได้นะ ราคาถูก ได้ยินดังนั้น ผมเริ่มเกิดความสนใจขึ้นมาเพราะกำลังจะหารถเพื่อใช้ในการถ่ายทำสารคดีอยู่พอดี ก็คุยกันไปกันมา ได้ราคารถมาแล้ว แต่ผมยังไม่เชื่อใจเท่าไรกลัวจะถูกหลอกเหมือนกัน จึงต่อรองขอดูรถก่อน ถ้าถูกใจก็จะเช่ารถใช้หลายวันตลอดที่อยู่มัณฑะเลย์ หนุ่มใหญ่พม่าซึ่งรู้ชื่อแระว่า โซ ก็บอกว่า ไปกินข้าวก่อนก็ได้ เดี่ยวจะเรียกรถมาให้ดู หรือจะรอตรงนี้ก็ได้ บังเอิญตรงที่ผมยืนคุยเจรจากันนั้นเป็นหน้าร้านขายหมากของพม่าพอดี ผมก็เลยถามไปว่า ผมถ่ายสารคดีเรื่องการกินหมากของพม่าได้ไหม โซ บอก ตามสบายเลยร้านนี้เป็นญาติเค้าเอง ระหว่างรอดูรถผมก็เลยคุยเรื่องการกินหมากของพม่าไปซะเป็น ชมๆ คนพม่านิยมกินหมากมากครับ เค้าบอกว่ามันแทนการสูบบุหรี่ ให้อารมณ์ประมาณเดียวกัน อายุสัก 18 ก็เริ่มกินกันแล้ว วันวันหนึ่งจะกิน 5-10 คำ ราคาขายปลีกแบบมวนห่อกันสดๆ ประมาณ 2 บาทแล้วแต่เครื่องปรุง ซึ่งมีสารพัดแบบตั้งแต่ เหล้าดอง ยาสูบ มะพร้าวคั่ว อื่นๆอีกเป็นสิบๆ อย่าง ชอบแบบไหนก็สั่งพ่อค้า แม่ค้าตรงนั้น แล้วรอรับเข้าปากเคี้ยวเลย เคี้ยวไปเรื่อยๆ จนกว่าหมากจะจืดหรือเผลอหลุดลงคอก็แล้วแต่ ก็เริ่มคำใหม่ วนเวียนไป ทั้งหญิงชาย ต่างเคี้ยวหมากกันตุ้ยๆทั้งเมือง ที่นี้การกินหมากมันก็ต้องมีการบ้วนน้ำหมากแดงๆ ออกมา ส่วนมากพี่พม่าแกก็บ้วนกันตรงนั้นแหละครับ ดูดีหน่อยก็เดินไปบ้วนตามโคนต้นไม้ มุมตึก แต่ส่วนมากเคี้ยวตรงไหนก็บ้วนกันตรงนั้น ถนนก็เลยมีสีด่างๆ แดงๆ สวยงามแปลกตาไปอีกแบบ และถนนส่วนมากในมัณฑะเลย์ยังเป็นถนนดินฝุ่นๆอยู่ น้ำหมากก็ซึมหายไปได้ ไม่เลอะนองเท่าไร ถ้าต้องไปขึ้นรถหรือมีอาชีพขับรถล่ะก็ เค้าจะพกกระป๋องเล็กๆติดตัวครับ เวลาจะบ้วนก็ควักของใครของมัน ส่วนจะมีการลืมพกแล้วยืมกันบ้วนหรือเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจ คนพม่าเคยบอกว่าทางการพม่าเคยห้ามมาหลายครั้งแล้วเหมือนกัน แต่ชาวพม่าก็ยังนิยมการกินหมากอยู่ ทางการก็เลยไปเน้นห้ามเรื่องการบ้วนน้ำหมากแทนว่า ห้ามบ้วนน้ำหมากไม่เป็นที่เป็นทาง แต่จะปรับ จะจับเท่าไรอย่างไร อันนี้ก็ลืมถาม พิธีกรรายการของผมก็ลองหมากพม่าไปคำหนึ่งเหมือนกัน ถ้าตัดเรื่องเครื่องปรุงแปลกๆ ออกไปแล้ว หมากไทยกับหมากพม่า เหมือนกันแทบทุกอย่าง นี่แหละครับผมถึงคิดได้ว่า การกินหมากพลูของพม่า ก็คือหน้าประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของไทยเราที่ตอนนี้ ไม่เหลืออีกแล้ว มีโอกาสไปเที่ยวพม่าอย่าลืมไปหาดูกันนะครับ มีความรู้คู่การเดินทาง การท่องเที่ยวจะสนุกขึ้นอีกเยอะครับ

1 ความคิดเห็น: